News

สัมภาษณ์ศิษย์เก่า (ปี 2015 : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เราได้พูดคุยกับคุณชัชนัย อัคควัฒนกุล นักศึกษาแลกเปลี่ยนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเข้าเรียนสาขานโยบายศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยริทสึเมคังเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2558 (2015) โดยพูดคุยเกี่ยวกับการมาศึกษาแลกเปลี่ยน สิ่งที่ประทับใจ และสามารถนำไปใช้ได้อย่างไรบ้างค่ะ

ทำไมถึงไปเรียนต่างประเทศและเลือกมหาวิทยาลัยริทสึเมคังคะ?
ตอนแรกสุด เคยไปต่างประเทศมาก่อน ไปญี่ปุ่นนี่แหละครับ แต่ไปช่วงสั้น ๆ ประมาณหนึ่งสัปดาห์กว่า รู้สึกชอบ อยากไปอีกทีหนึ่ง และอยากไปให้นานขึ้น เลยหาโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างเรียนหนังสืออยู่ด้วย อาจารย์ยื่นโครงการแลกเปลี่ยนของริทสึเมคังมาให้ดู ผมสนใจทันทีเลยตอบตกลงไปครับ

ไปเรียนแล้วเป็นอย่างไรบ้าง สนุกไหมคะ?
ความจริง ผมเรียนเอกสถาปนิก แต่สาขาที่ผมไปเรียนเป็นนโยบายศาสตร์ ตอนไปเรียนครั้งแรก รู้สึกไม่คุ้นชินกับตัววิชา แต่พอเริ่มเรียน ก็เข้าใจว่าเอามาปรับใช้ได้ และวิชาพวกนี้คงไม่ได้เห็นในประเทศไทย คิดว่ามีประโยชน์ครับ

ช่วยเล่าเกี่ยวกับการเรียน หรือวิชา PBL ให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ?
โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมการเรียนของเด็กต่างชาติ มีเด็กจากอินโดนีเซีย ไทย และคนญี่ปุ่นที่เคยมาแลกเปลี่ยนที่ธรรมศาสตร์หรือจุฬาฯ โดยให้เด็กเหล่านี้มาร่วมมือกัน หาทางออกให้กับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ วิชาหลักที่เรียนคือ International PBL Seminars เพื่อจะเรียนรู้ว่า PBL เริ่มต้นอย่างไร และช่วยอะไรได้บ้าง ปัญหาของไทย เช่น ปัญหาการจัดการขยะ ปัญหาของประเทศอินโดนีเซีย เกี่ยวกับคนอพยพ ปัญหาประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะให้เด็กในห้องเรียนมาแลกเปลี่ยนกันว่า ประเทศของตนเองมีปัญหาลักษณะนี้ไหม หรือหากเราร่วมมือกันจะมีทางออกที่ทำให้ดีขึ้นหรือไม่

นอกจากนั้น จะมีวิชาของนโยบายศาสตร์ เช่น วิชาธุรกิจ จะเรียนเกี่ยวกับมุมมองของธุรกิจเอกชนระดับใหญ่ว่า มีมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร วิชา Gaming Simulation จำลองว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับสังคมหรือประเทศ เราจะสามารถแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายอย่างไร แล้วก็มีวิชาพื้นฐานนโยบายศาสตร์ ภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐาน สถิติ และวิชาสัมภาษณ์ ซึ่งช่วยในการเก็บข้อมูล คิดว่ามีประโยชน์ดีครับ ตอนกลับมาเรียนที่ไทยแล้วทำวิทยานิพนธ์ก็ได้ใช้ความรู้ตรงนั้นบ้างครับ

ช่วยเล่าสิ่งที่ประทับใจในชีวิตการเป็นนิสิตแลกเปลี่ยน หรือประทับใจในประเทศญี่ปุ่นให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ?

มีอยู่หลายเรื่องครับ อย่างแรก เรื่องผู้คน ตอนผมไปญี่ปุ่นแล้วเจอคนญี่ปุ่น ผมมีภาพจำของคนในโตเกียว คนในเมืองหลวง เป็นภาพเย็นชาหน่อย ๆ ไม่ค่อยอยากคุยกับคนไม่รู้จัก แต่พอไปอยู่จริง ๆ คนญี่ปุ่นก็ค่อนข้างน่ารัก เป็นห่วงเป็นใย อาจเพราะภาษาสื่อสารกันไม่ค่อยได้ เขาจึงไม่คุ้นชินกับเรา ตอนผมไปถึงครั้งแรก อากาศหนาวมาก อุปกรณ์ในหอพักมีตกหล่นบ้าง ต้องไปหาซื้อเพิ่ม ผมเจอคุณลุงขายผ้าห่ม เขาก็ถามว่าเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเหรอ เพราะไม่คุ้นหน้า เลยลดราคาให้ ยังบอกให้ผมเรียกเพื่อนมา เขาจะลดครึ่งราคาให้ ใจดีครับ
คนญี่ปุ่นทักทายกันง่ายและบ่อยด้วย เดินผ่านก็โค้งให้ ทักทายกัน คนญี่ปุ่นเป็นคนน่ารักครับ

อีกอย่างที่ผมประทับใจคือ มหาวิทยาลัยริทสึเมคังครับ ช่วงที่ผมไป เขาเปิดแคมปัสใหม่ที่อิบารากิ โอซาก้า จากปกติมีที่เกียวโต ผมเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนชุดแรก ๆ ได้ใช้แคมปัสใหม่ รู้สึกว่าเป็นมหาวิทยาลัยทันสมัย แปลกใหม่ ทุกอย่างสามารถควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ตอนซื้อข้าวก็กดบัตรคิวแล้วไปรอรับได้เลย ห้องเรียนก็แตกต่าง ห้องเรียนปกติจะหันไปข้างหน้ากระดาน ห้องเรียนเป็นโต๊ะแบบมีล้อ อาจารย์ให้นั่งจับกลุ่มกัน การเรียนการสอนเปลี่ยนไปได้ตามแบบที่อาจารย์อยากจะสอน เช่น ทำงานกลุ่ม ก็จะจัดโต๊ะเข้าหากัน เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติอย่างแท้จริง ทั้งการสอน และสิ่งอำนวยความสะดวก มีห้องสมุด โรงอาหาร อย่างโรงอาหารก็เปิดให้คนนอกใช้ได้ด้วย ผมเคยเห็นคุณลุงคุณป้าสองสามกลุ่มเข้ามาใช้ แปลกดีครับ

โครงการนี้เพิ่งเปิดมาใหม่ ตอนผมไปก็โชคร้ายหน่อย ๆ ประสบอุบัติเหตุ แต่ได้ตัวแทนของโครงการ เป็นเหมือนผู้ช่วยนักศึกษาคอยช่วยเหลือ ตอนแรก ๆ ผมพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ค่อยแข็ง แต่แขนหักต้องไปโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยก็ส่งคุณโอโนเสะมาช่วยเป็นล่ามให้ อยู่กับเราตั้งแต่ครั้งแรกตอนไปโรงพยายาม พยายามไปโรงพยาบาลด้วยทุกครั้ง คอยช่วยติดตามอาการ ติดต่อให้ เป็นโครงการที่คอยเอาใจใส่นักศึกษา มีมาตรการรับมือที่ดี แต่ผมหวังว่าจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้บ่อย ๆ ครับ

สุดท้าย เรื่องของนักเรียนนักศึกษา เพราะเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ ทำให้ได้เรียนกับคนญี่ปุ่นจริง ๆ ด้วย หรือได้เจอกับนักศึกษาอัฟกานิสถาน ที่ผมไม่คิดว่าจะได้เรียนด้วยเลย มาทำ workshop ด้วยกัน ได้ไปทำงานสัมภาษณ์ด้วยกัน ออกไปเที่ยวกัน เป็นประสบการณ์ที่ดี ได้เจอคนหลากหลายเชื้อชาติ ไม่คิดว่ามหาวิทยาลัยจะรวบรวมความหลากหลายตรงนี้ไว้ได้ เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีครับ

อยากถามเกี่ยวกับเส้นทางหลังเรียนจบค่ะ ตอนนี้ทำอะไรอยู่คะ? การไปเรียนแลกเปลี่ยนมีผลต่อเส้นทางในตอนนี้ไหม?
ผมเรียนจบสถาปนิกสาขาผังเมือง ตอนนี้ช่วยอาจารย์ทำโปรเจ็กต์ผังเมืองรวมอยู่ คิดว่าที่ไปเรียนจากริทสึเมคัง เรื่องนโยบายศาสตร์น่าจะได้ใช้ ทุกวันนี้ก็พยายามดึงความรู้มาช่วยอาจารย์คิด ช่วยกับรุ่นพี่และเพื่อน ๆ ว่า เราสามารถนำเรื่องของนโยบายไปใส่ในผังเมืองรวม ในกฎหมายของประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน เส้นทางในอนาคต ผมก็คิดว่าคงเป็นทางผังเมืองรวม ผมอยากศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในอนาคต และเล็งประเทศญี่ปุ่นไว้เป็นอันดันต้น ๆ อาจารย์แนะนำว่า ญี่ปุ่นค่อนข้างเชี่ยวชาญเรื่องผังเมือง คิดว่าถ้ามีโอกาสน่าจะได้กลับไปครับ

สุดท้ายนี้ มีอะไรจะแนะนำหรือฝากถึงรุ่นน้องที่จะไปแลกเปลี่ยนไหมคะ?
อยากฝากว่า การไปเรียนแลกเปลี่ยนเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต บางคนอาจเคยไปมาก่อนแล้ว แต่ที่นี่ต่างจากที่อื่น มีเรื่องของความหลากหลายทางเชื้อชาติและความคิด อยากให้เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ให้มากที่สุด เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะได้ฟังความเห็นของคนที่อยู่ห่างไกลเราหรือแตกต่างจากเรามากขนาดนี้ นอกเหนือจากนั้นก็เก็บเกี่ยวความสนุกสนานมาด้วย สุดท้ายแล้ว วิชาแลกเปลี่ยนที่เราไปเรียนอาจจะไม่ใช่วิชาเอกของเรา แต่เราจะได้ใช้มันสักวันหนึ่งครับ อยากให้ขวนขวายแล้วก็เก็บเกี่ยวมาครับ อีกอย่างหนึ่ง เรื่องอุบัติเหตุ ต้องระวังด้วยครับ ถ้าขี่จักรยานไม่แข็งก็อย่าขี่ในญี่ปุ่นเลยครับ ไม่ปลอดภัย